วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“ฮิตาชิ” เล็งส่งคณะมาไทย สนผลิตตู้รถไฟฟ้าในอีอีซี


















นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


  รมว.คมนาคมเผยผลหารือตัวแทนฮิตาชิ ไทยเสนอให้ลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่รองรับเศรษฐกิจดิจิตอล เผยฝ่ายญี่ปุ่นสนใจผลิตตู้รถไฟฟ้าในอีอีซีแต่ต้องการันตีความต้องการ 1,000 ตู้ขึ้น โดยไทยเตรียมทำแผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมรถไฟในเขต CLMV รองรับ คาดฮิตาชิส่งคณะมาไทยเร็วๆ นี้
  
       วันนี้ (6 มิ.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับตัวแทนบริษัทฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ว่า ปัจจุบันไทยเป็นลูกค้าของฮิตาชิในการซื้อหัวรถจักรดีเซลอยู่แล้ว และรถไฟฟ้าสายสีแดงก็จะใช้ระบบรถของฮิตาชิ ซึ่งจะมีประมาณ 130 กว่าตู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ จะเริ่มผลิตได้ในปีหน้า และทยอยส่งมอบในปี 2562 ซึ่งเราก็อยากให้เขาเร่ง แต่ว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นดำเนินงานในรูปแบบบริษัทร่วมค้าระหว่างฮิตาชิ กับซูมิโตโม และมิตซูบิชิที่ดูเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ


























รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต


  
       นายอาคมกล่าวอีกว่า ฮิตาชิมีธุรกิจหลายอย่างในไทย เช่น การผลิตลิฟต์ บันไดเลื่อน มีศูนย์อยู่ในประเทศไทย แต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยากให้มองธุรกิจอื่น นอกเหนือจากเครื่องไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตด้วย โดยอยากให้เขามองถึงการลงทุนในไทยเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ซึ่งทางฮิตาชิยอมรับว่าไม่ได้คิดเรื่องนี้ เราก็บอกว่าเรากำลังจะมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ที่เราอยากได้เช่นการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบริการจราจร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางฮิตาชิก็มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบความปลอดภัย เช่น ระบบกล้องซีซีทีวี ซึ่งทางฮิตาชิจะมีคณะทำงานมาดูลู่ทางลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะ ซึ่งเราก็บอกว่าเขามีโอกาสเพราะเป็นเขตอุตสาหกรรมยุคใหม่ มีการคมนาคมทันสมัย ซึ่งเขาบอกว่าเขาจะมาเร็วๆ นี้ และทางเราจะมีคณะทำงานดูแลเป็นพิเศษ และจะให้บีโอไอให้รายละเอียด
  
       นายอาคมกล่าวอีกว่า ทางฮิตาชิมีเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ การผลิตระบบรถไฟฟ้าป้อนให้ประเทศต่างๆ ขณะนี้มีอังกฤษเป็นตลาดหลัก ประมาณ 1,500-1,600 ตู้ ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดงในไทยมี 130 กว่าตู้ เราจึงเชิญชวนให้เขามาตั้งโรงงานประกอบและซ่อมบำรุงในไทย รวมทั้งทำตลาดในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในกลุ่มประเทศกัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม (CLMV) กลุ่มอาเซียน ซึ่งถ้ามีความต้องการที่มากพอเขาก็สนใจเข้ามาลงทุน แต่ขอหลักประกันว่าต้องมีความต้องการ 1,000 ตู้ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าในไทยแต่ละสายก็จะใช้คนละยี่ห้อ ถ้าความต้องการฮิตาชิยี่ห้อเดียวอาจไม่พอ ซึ่งทางฮิตาชิก็พร้อมที่จะกลับไปคิดดู โดยปัจจุบันฮิตาชิมีลูกค้าหลักอยู่ที่อังกฤษ และไต้หวัน และถ้าเข้ามาลงทุนในไทยเขาก็ต้องหาตลาดเอง แต่ก็มีตลาดใน CLMV รองรับ ซึ่งเราต้องทำแผนแม่บทในการทำโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันในกลุ่ม CLMV ในการเชื่อมโยงทางรถไฟ ซึ่งตอนนี้เรายังเชื่อมทางรถไฟระหว่างกันไม่ครบ
  
       อนึ่ง เมื่อเวลา 15.30-16.15 น.วันนี้ที่ 5 มิ.ย. 2560 ตามเวลาท้องถิ่น ตัวแทนบริษัทฮิตาชิ ประกอบด้วย นายฮิกาชิฮารา ประธานและซีอีโอ นายทานาเบะ รองประธานอาวุโส นายโอกะ หัวหน้าสายธุรกิจระบบราง และนายยามากาวา ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจระบบราง ได้เข้าพบปะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น .

ที่มา : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000057627

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น