วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

เร่งแก้ปัญหางานส่วนเพิ่ม หนุนรถไฟชานเมืองสายสีแดงเดินหน้า



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ) ยังมีปัญหาในส่วนของงานส่วนเพิ่มที่ทำไปแล้ว มูลค่างาน 10,345 ล้านบาท พร้อมสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ในช่วงที่ผ่านมาไปหาข้อมูลและทำให้เกิดความชัดเจน
วันนี้ (2 ส.ค.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง บอร์ด และผู้บริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหารถไฟชานเมืองสายสีแดง(ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) นอกจากกำหนดการเปิดให้บริการซึ่งตามแผนเดิม รฟท.วางกำหนดการที่โครงการจะเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2564 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปลายปีเดียวกัน แต่ขณะนี้โครงการประสบปัญหาความล่าช้าในส่วนของการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเอกชนผู้รับเหมางาน ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างมากกว่า 500 วัน แต่บอร์ด รฟท.อนุมัติขยายระยะเวลาเพียง 87 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารการเดินรถซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ ควรใช้วิธีร่วมทุนแบบ PPP เอกชนมาร่วมทุนบริหารการเดินรถ โดยแนวทางดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
ปล่อยเสียง
รมว.คมนาคม ยอมรับว่า พบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงานส่วนเพิ่ม Variation Order (VO) วงเงิน 10,345 ล้านบาท ซึ่งถูกระบุเป็นค่างานระบบอาณัติสัญญาณ, ภาษี และค่าจ้างที่ปรึกษา ที่ดำเนินไปแล้ว แต่โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) รวมทั้งโครงการที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีการขยายกรอบวงเงิน 2 ครั้ง จนล่าสุดมีวงเงินก่อสร้างรวม 93,950 ล้านบาท และคงจะไม่สามารถใช้เงินกู้จากไจก้าในส่วนของงานส่วนเพิ่มได้อีก
พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการนี้ในช่วงที่ผ่านมา ไปหาข้อมูลและทำให้เกิดความชัดเจน จะต้องศึกษาดูความเป็นไปได้ว่า จะไปหาวงเงินก้อนนี้จากไหน เพราะหากจะขอจัดสรรจากงบประมาณ การดำเนินการต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานทำข้อมูลให้ชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์
สำหรับปัญหางานส่วนที่เพิ่ม Variation Order (VO) ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เป็นงานที่เอกชนได้ดำเนินการไปแล้ว และแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐทราบเพื่อขอเคลมค่างาน ซึ่งประเด็นนี้วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท หากภาครัฐปฏิเสธการชำระ ยังไม่เกิดความชัดเจนว่าเอกชนจะยอมแบกรับเงินลงทุนดังกล่าวหรือไม่


หากเอกชนไม่ยอมรับภาระ ยืนยันให้ภาครัฐจัดหาเงินค่างานมาชำระ ก็จะกลายเป็นข้อพิพาท ระหว่างภาครัฐกับเอกชนผู้รับงาน อาจกลายเป็นค่าโง่ และไม่ทราบว่าจะกระทบต่อกำหนดการการเปิดให้บริการหรือไม่ ในขณะที่ข้อมูลเชิงลึกระบุว่า คนเซ็นอนุมัติให้มีการก่อสร้างงานส่วนเพิ่ม เป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการระดับเล็กมาก และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนประเด็นดังกล่าวขึ้น
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) ครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมขณะนั้น เสนอปรับกรอบวงเงินลงทุนรวมของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีกรอบวงเงินโครงการรวม 93,950 ล้านบาท จากเดิม 75,548 ล้านบาท ตามที่ รฟท.เสนอ โดยเป็นกรอบวงเงินที่ครอบคลุมงานปรับแบบรายละเอียดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2558 ไว้แล้ว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการขยายวงเงินกู้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมการปรับกรอบวงเงิน
ขณะเดียวกันมีข้อมูล ระบุว่า การต้องขยายกรอบวงเงินอีก 10,345 ล้านบาทนี้ เป็นค่างานส่วนเพิ่มที่ครอบคลุมทั้งในสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและปรับเขตทางรถไฟ เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนรางหรือ Track ที่มีในโครงการ รวมถึงงานส่วนเพิ่มในสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ที่เป็นระบบอาณัติสัญญาณด้วย
ขณะที่มีรายงานข่าวจากผู้บริหารการรถไฟ ระบุว่า วงเงินส่วนเพิ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เคยรับทราบกรอบวงเงินแล้ว หลังจากที่ไม่สามารถกู้เงินไจก้าได้ โดย สบน.ระบุว่า จะมีการจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศหรือต่างประเทศ เข้ามารองรับวงเงินดังกล่าว แต่ก็ต้องมีการรายงานที่มาของแหล่งเงินกู้ใหม่ ให้ไจก้าทราบ

ที่มา : news.thaipbs.or.th


วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

“บิ๊กตู่” เปิดทำเนียบรัฐบาล รับฟังวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์

“บิ๊กตู่” เปิดทำเนียบรัฐบาล รับฟังวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ 5 หัวข้อหลัก หวังช่วยรัฐบาลเดินหน้าเศรษฐกิจ นำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จ


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ก.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือตัวแทนและผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce เพื่อรับฟังข้อเสนอวิสัยทัศน์และความคิดเห็นในการขับเคลื่อนแต่ละภาคธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ และจะช่วยให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น นำพาประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จได้
สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมนำเสนอวิสัยทัศน์และความคิด ประกอบด้วย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และตัวแทนจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน), บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน), บริษัท โกลเด้นแลนด์เรสซิเดนซ์ จำกัด โดยการหารือจะอยู่ในกรอบ 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. วิสัยทัศน์หรือมุมมองใน 3 ปีข้างหน้า โอกาสไทยในเวทีโลก
2. เรื่องสำคัญที่สุด 3 เรื่อง ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน
3. อุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดที่ขัดขวางความสำเร็จ
4. กฎกติกาของภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
5. หน่วยงานของภาครัฐที่อยากเห็นการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรับฟังความเห็นจะต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ไปจนกระทั่งถึงช่วงเย็น โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพ แต่อาจมีการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของนายกรัฐมนตรีเอง.

ที่มา : www.thairath.co.th